วัดสิริจันทรนิมิตรวรวิหาร หรือที่ชาวลพบุรีเรียกว่า "วัดเขาพระงาม" ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปตามถนนสายลพบุรี-โคกสำโรง ระยะทางประมาณ 12.5 กิโลเมตร พื้นที่ตั้งของวัดมีเนื้อที่ 99 ไร่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2466 และได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ 2499
วัดนี้เดิมเรียกว่าวัดเขาพระงาม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ในงานผูกพัทธสีมา กลางเดือน ๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เสด็จเยี่ยม ทอดพระเนตรวิธีผูกพัทธสีมา แล้วทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามวัดว่า "วัดสิริจันทรนิมิตร" สืบมา
วัดสิริจันทรนิมิตรวรวิหารในปัจจุบัน
ศาลาการเปรียญ
หอกลองและโปงใหญ่
บันไดทางขึ้นสู่ยอดเขาเพื่อไปนมัสการพระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล
วัดสิริจันทรนิมิตรวรวิหาร (วัดเขาพระงาม) ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของเชิงเขาพระงาม ซึ่งเดิมมีชื่อเรียกว่า “เขาบ่องาม” เนื่องจากสภาพที่ตั้งเป็นภูเขาและมีบ่อน้ำตามธรรมชาติที่มีลักษณะสวยงามปรากฏอยู่ สถานที่ตั้งวัดอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดลพบุรีไปทางทิศเหนือตามถนนพหลโยธินไปประมาณ 12 กิโลเมตร อยู่ในเขตตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี เดิมเป็นวัดร้าง สร้างมาแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่มีหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุในบริเวณวัดมากมาย อาทิ ซากฐานพระสถูปเจดีย์เก่าบนยอดเขา ซากกำแพงเก่าที่ปรากฏบริเวณเชิงเขา และ พระพุทธไสยาสน์ที่ประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำพญามังกร (ถ้ำภัทราวุโธ) ซึ่งสร้างด้วยศิลาแลงศิลปสมัยทวารวดี ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดร้างที่สร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
ปี พ.ศ. 2455 พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระราชกวี” ซึ่งเป็นพระเถระที่เป็นกำลังสำคัญในการวางรากฐานการศึกษาและจัดการพระพุทธศาสนาของประเทศไทยให้มีความมั่นคงและก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคอีสาน เป็นผู้สอนธรรมะให้แก่พระเถระองค์สำคัญในธรรมยุติกนิกายหลายรูป รวมถึงพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งพระกรรมฐานสายวัดป่า ได้พาพระครูปลัดอ่ำซึ่งเป็นน้องชายของท่าน และพระมหาทา ( ฐิตวีโร) ออกเดินทางเพื่อหาสัปปายะสถานในการเจริญวิปัสสนา พระเถระได้เดินทางมาถึงแขวงเมืองลพบุรีซึ่งมีเขาและถ้ำค่อนข้างมาก เมื่อเดินทางถึง “ถ้ำเขาบ่องาม” เห็นว่าเงียบสงัดดี ถ้ำอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 50 เส้น (2 กิโลเมตร) ยังว่างอยู่ ไม่มีพระสงฆ์ใดไปอาศัย ตัวปากถ้ำมีรูปร่างเป็นเงื้อมปากมังกรผินหน้าสู่ทิศตะวันออก เวลาบ่ายจะได้รับเงาจากภูเขาเย็นสบายดี คิดว่าเป็นมงคลสถาน แม้พระครูปลัดอ่ำที่ไปด้วยก็ชอบใจ ถึงขนาดขอลาออกจากตำแหน่งพระครูปลัดมาจำพรรษาที่ถ้ำนี้ พระราชกวีก็มีดำริว่าเมื่อออกพรรษาแล้วก็จะมาอยู่ด้วยกันที่นี้
เมื่อถึงฤดูเข้าพรรษาพระราชกวี (จันทร์) ได้กลับเข้าไปจำพรรษาที่กรุงเทพฯ โดยมีพระครูปลัดอ่ำเดินทางกลับไปส่งท่านเจ้าคุณที่กรุงเทพมหานครด้วย ครั้นถึงเดือน 8 ขึ้น 13 ค่ำ พระครูอ่ำจึงได้พาพระสังกิจโจ ลำเจียก ออกมาจำพรรษาอยู่ที่เขาพระงาม รวมเป็น 3 รูปด้วยกัน และได้เริ่มทำการการก่อสร้างวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 มาจนถึงเดือน 9 มีพระยาสมบัตยาบาล (ทรัพย์) ได้มาปฏิสังขรณ์ถ้ำและพระไสยาสน์ในถ้ำบนไหล่เขาถวาย สิ้นเงินทั้งสิ้น 1,300 บาทเศษ และได้จารึกหน้าถ้ำบนประตูตามนามของท่านพระครูปลัดว่า "ถ้ำภัทราวุโธ ร.ศ. ๑๓๑"
เมื่อออกพรรษา พระราชกวี (จันทร์) ได้รับจดหมายจากพระครูปลัดอ่ำหารือมาว่า พบพระพุทธรูปเก่าปรักหักพังเกลื่อนกลาดอยู่เป็นที่รำคาญใจ อยากจะเก็บรวบรวมแล้วก่อเป็นพระกัจจายน์องค์ใหญ่ให้เป็นที่บรรจุพระที่ชำรุด แต่พระราชกวี (จันทร์) ดำริว่าพระกัจจายน์เป็นเพียงพระสาวก ส่วนพระพุทธรูปนั้นเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าทำอย่างนั้นเห็นจะไม่เหมาะ ครั้นพอเสร็จงานพระกฐินแล้ว ถึงเดือน 12 ท่านจึงรีบออกไปถ้ำเขาบ่องาม ปรึกษากันจนเกิดโครงการสร้างพระใหญ่ขึ้น ส่วนรูปพระกัจจายน์เอาไว้ภายหลัง ตกลงกันแล้วก็เลือกหาสถานที่ เห็นว่าเขาบ่องามมีรูปเป็นหัวมังกรและหางมังกร ควรจะสร้างพระใหญ่ตรงเหนือคอมังกรจะได้มีเดชานุภาพมาก อีกประการหนึ่งบริเวณนั้นมีหินก้อนใหญ่รับพระชานุ (เข่า) อยู่สองก้อน ทิศใต้ก้อนใหญ่ ทิศเหนือก้อนย่อม พอจะกันไม่ให้องค์พระทรุดลงไปได้ จากนั้นพระราชกวี (จันทร์) กลับเข้ากรุงเทพฯ มาเล่าความประสงค์ให้ญาติโยมฟัง ปรากฏว่ามีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์ในการสร้างองค์พระจนแล้วเสร็จ แล้วถวายพระนามว่า “พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล” ส่วนวัดใช้ชื่อว่า “วัดเขาพระงาม”
พระราชกวี (จันทร์) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งเป็นพระเทพโมลีใน พ.ศ. 2457 แต่พอถึงปลาย พ.ศ. 2458 ก็เกิดเรื่องราว ทำให้ท่านถูกถอดออกจากตำแหน่ง จนถึงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานอภัยโทษให้ แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ให้เป็น “พระธรรมธีรราชมหามุนี” และเลื่อนเป็น “พระโพธิวงศาจารย์” ตามลำดับ
ปลายปีเดียวกันนั้น (พ.ศ. 2459) พระโพธิวงศาจารย์ (จันทร์) ตั้งกำหนดการจะไปผูกพัทธสีมาที่วัดเขาพระงามในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบจากเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) จึงมีรับสั่งกับเจ้าพระยายมราชว่าจะเสด็จไปช่วยด้วย ในปี พ.ศ. 2466 ใกล้วันงานพระองค์ได้เสด็จไปประทับแรมที่สนามปืนใหญ่คืนหนึ่ง รุ่งขึ้น วันขึ้น 14 ค่ำ เวลาบ่าย 2 โมง เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเขาพระงามด้วยกระบวนรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร ในการเสด็จครั้งนี้มีราษฎรมาในงานจำนวนมาก เมื่อเสด็จถึงแล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จเข้าไปประทับในพระอุโบสถ ทอดพระเนตรวิธีผูกพัทธสีมา ทรงประทับอยู่พอสมควรแล้วเสด็จกลับ
ต่อมาใน พ.ศ. 2467 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระครูปลัด (อ่ำ) เป็นพระครูศีลวรคุณให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเขาพระงามเป็นรูปแรก และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสิริจันทรนิมิตร” และพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งพระโพธิวงศาจารย์ (จันทร์) เป็น “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์” ที่เจ้าคณะรองฝ่ายอรัญวาสี ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 หลังจากนั้นไม่กี่วันพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็สวรรคตในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระชนมายุ 45 พรรษา
พระอุโสถ
เจ้าอาวาสวัด
ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ จาริกแสวงหาสถานที่อันเป็นสัปปายะมาเพื่อบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ ได้เดินทางถึงบริเวณเขาพระงาม และมีดำริที่จะสร้างวัดนี้ให้เป็นสถานที่ในการเจริญวิปัสสนา โดยการเดินทางมาครั้งนั้นได้มีลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดและเป็นน้องชายของท่านเดินทางมาด้วย คือพระปลัดอ่ำ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระเทพวรคุณ (อ่ำ ภทฺราวุโธ) และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาพระงามรูปแรก จากประวัติของท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ยังทราบอีกว่าท่านมีลูกศิษย์ที่เป็นพระใกล้ชิดและไว้ใจได้หลายรูป หนึ่งในนั้นก็คือพระราชมุนี (ศรีนารโท) ซึ่งมีภูมิลำเนาเดียวกับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ คือ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาพระราชมุนีได้เป็นเจ้าอาวาสวัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ความเกี่ยวข้องของวัดเขาพระงามกับวัดนิเวศธรรมประวัติจึงเชื่อมโยงกันจากการเป็นอันเตวาสิกของท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ
พระเทพวรคุณ (อ่ำ ภทฺราวุโธ) เจ้าอาวาสรูปที่ 1 เมื่อครั้งเริ่มบูรณะวัดเขาพระงาม ได้พาพระลำเจียก สงฺกิจฺโจ จากกรุงเทพมหานครกลับมาช่วยกันพัฒนาวัดเขาพระงามด้วย และเมื่อท่านเจ้าคุณพระเทพวรคุณ (อ่ำ ภทฺราวุโธ) ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดมณีชลขันธ์ อ.เมืองลพบุรี พระลำเจียก สงฺกิจฺโจ ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสืบต่อ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระศีลวรคุณ” ท่านได้พัฒนาวัดสืบต่อมา โดยท่านมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้านกันโดยทั่ว
ครั้นเมื่อพระศีลวรคุณ (ลำเจียก สงฺกิจฺโจ) เจ้าอาวาสรูปที่ 2 มรณภาพ และทางวัดเขาพระงามยังไม่มีพระรูปใดที่มีสมณศักดิ์และความอาวุโสพอที่จะครองวัดได้ ทางฝ่ายปกครองสงฆ์จึงได้นิมนต์พระราชธรรมโมลี (พิมพ์ ปญฺญาทีโป) จากวัดนิเวศธรรมประวัติมาครองวัดเขาพระงาม ต่อมาพระราชธรรมโมลีได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพวรคุณ (พิมพ์ ปญฺญาทีโป) เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี สระบุรี (ธรรมยุติ) การมาครองวัดเขาพระงามของพระเทพวรคุณ (พิมพ์ ปญฺญาทีโป) ได้นำความเจริญมาสู่วัดเขาพระงามและชุมชนโดยรอบ ถือว่าท่านเป็นพระนักพัฒนาตัวอย่างที่โดดเด่นรูปหนึ่งและเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั่วไปโดยมาก หนึ่งในศิษย์ของท่านเจ้าคุณพระเทพวรคุณ(พิมพ์ ปญฺญาทีโป) ที่ติดตามมาด้วยนั้นก็คือ พระอนันตสารโสภน (ราเมศร์ ฐิตปญฺโญ) ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสลำดับที่ 5
การมาบูรณะและสร้างวัดเขาพระงามที่เมืองลพบุรีของท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ถือเป็นจุดกำเนิดสำคัญที่ทำให้พระปฏิบัติดีหลายๆรูปได้เข้ามาจำพรรษาและสร้างความเจริญให้แก่ชุมชน รวมไปถึงการขยายวัดสาขาในสายธรรมยุติกนิกายในอำเภอต่างๆของจังหวัดลพบุรี โดยวัดเขาพระงามมีบทบาทสำคัญในการส่งพระสงฆ์ที่มีความรู้ไปประจำตามวัดสาขาต่างๆ เพื่อให้เป็นผู้นำทางปัญญาให้แก่ชุมชน
ภาพมุมสูงบริเวณองค์พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล
ภาพมุมสูง
พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล สร้างโดย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) และพระปลัดอ่ำผู้เป็นอันเตวาสิก (ลูกศิษย์) เป็นพระพุทธรูปที่มีหน้าตักกว้าง 11 วา สูงจากหน้าตักถึงยอดพระเศียร 18 วา เส้นพระศกทำด้วยไหกระเทียม เมื่อสร้างเสร็จได้ถวายพระนามว่า พระพุทธนฤมิตรมัธยมพุทธกาล และในปี พ.ศ. 2469 จึงเปลี่ยนนามใหม่ว่า "พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล"
ในปี พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสรยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธียกฉัตรกางกั้นถวายแด่พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล หรือหลวงพ่อพระงาม ซึ่งมีความโดดเด่นเป็นสง่า สามารถมองเห็นมาแต่ไกล เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมืองลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียงนิยมเดินทางไปกราบสักการะและขอพรด้วยความเคารพศรัทธาอยู่เป็นเนืองนิจ
ผู้สถาปนาวัด พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันฺโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส